ติดแล้วมหาลัย ได้ไปแล้วเมืองนอก! ในที่สุดเราก็ผ่านพ้นช่วงการเตรียมตัวไปเรียนต่อ แต่นี่ยังเป็นแค่จุดเริ่มต้น เรายังมีอีกหลายปีที่ต้องฝ่าฟัน ความแปลกใหม่ในความไม่รู้นี้มันทั้งน่าตื่นเต้นแล้วก็น่ากลัว วันนี้ EduSmith เลยขอบอกต่อประสบการณ์ตรงจากคนที่ผ่านการผจญภัยมาแล้ว ว่าต้องทำอย่างไรให้การไปเรียนต่อนั้นคุ้มค่า (และสนุก) ที่สุด
1.มองความไม่รู้เป็นความท้าทาย
ก่อนที่เราจะสมัครเราอาจจะมีหนทางในใจไว้แล้วเรียบร้อย แต่เมื่อเราไปถึงมหาลัยแล้วจะพบว่ามีทั้งคลาสทั้งคลับ (ชมรม) ต่าง ๆ มากมายเยอะแยะไปหมด บ้างก็อาจจะคุ้นเคย แต่ส่วนมากก็อาจจะไม่เคยได้ยินเลยด้วยซ้ำ แทนที่จะปล่อยผ่านสิ่งที่ไม่เคยได้ยินเหล่านั้น เราลองหยุดแล้วศึกษามันสักนิด เพราะอาจบังเอิญเป็นสิ่งที่เราสนใจมาตลอดแต่ไม่รู้ว่าเรียกอะไรหรือไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีอยู่บนโลก ยกตัวอย่างเช่น ที่มหาลัยอย่าง Stanford University มีโปรแกรมหนึ่งชื่อว่า Symbolic Systems ฟังแล้วก็ยังไม่รู้ว่าเรียนอะไร แต่พอไปศึกษาดูแล้วพบว่าเป็นโปรแกรมทั้งมีทั้ง ป.ตรี และป.โท ที่ถือเป็นการเรียนสหศาสตร์ที่ผสมทั้ง Computer Science ภาษาศาสตร์ ปรัชญา และจิตวิทยา เพื่อเข้าใจ “การทำงานของจิต” น่าสนใจมาก
2.เสาะหา Resources อยู่เสมอ
Resources หรือทรัพยากรที่มหาลัยมีอยู่เยอะมาก และมหาลัยก็ต้องการช่วยให้เราทั้งเรียนได้ดีขึ้นและใช้ชีิวิตสะดวกขึ้น จะน่าเสียดายหากเราไม่ได้ใช้ประโยชน์มันอย่างเต็มที่ ก่อนจะเริ่มเรียนเราก็ศึกษาก่อนว่ามหาลัยของเรามี Resources อะไรบ้าง มหาลัยหลายแห่งจะมี Math and Science Center, Writing Center ที่มีนักศึกษาที่เป็น TA (Teacher’s Assistant) ประจำเพื่อให้คำแนะนำ ช่วยคอมเม้นงานเขียน หรือช่วยติวก่อนสอบ ในการทำวิจัยเราก็สามารถติดต่อกับบรรณารักษ์เพื่อให้ช่วยหาหนังสืออ้างอิง หรือช่วยตรวจสอบการ cite ในงานเขียนของเรา
ที่เมืองนอกวัฒนธรรมการ Ask for help หรือขอความช่วยเหลือเป็นที่ชื่นชมเพราะถือเป็นการแสดงความกระตือรือร้นในการอยากพัฒนาตัวเอง เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัวที่จะเข้าไปถามหรือแค่พูดคุยกับอาจารย์ในชั่วโมง Office Hours ที่ส่วนใหญ่อาจารย์จะเปิดให้นักศึกษาเข้ามาปรึกษาได้ตามช่วงเวลาที่กำหนด เราก็อาจจะเช็คก่อนว่าอาจารย์ท่านนี้ปกติมี Office Hours เมื่อไหร่ หรือถ้าสะดวกไม่ตรงกัน ก็ติดต่ออีเมล์เป็นการส่วนตัวได้
นอกจาก Resources ด้านการเรียนแล้ว ก็ยังมี resources ด้านอื่น ๆ อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นสิทธิลดราคาร้านอาหาร หรือเข้าพิพิธภัณฑ์ฟรี สิทธิด้านสุขภาพ อันนี้ก็จะแตกต่างไปตามมหาลัย
3.ทำความเข้าใจสังคมรอบข้าง
ไปเรียนต่อเมืองนอกนอกจากจะเป็นโอกาสในการได้ไปเรียนรู้ในรั้วมหาวิทยาลัยชั้นนำแล้ว ยังเป็นโอกาสสำหรับเราที่จะไปเรียนรู้การใช้ชีวิตในสังคมที่แตกต่างอีกด้วย การไปเรียนต่อครั้งนี้อาจจะเป็นครั้งแรกในการจากบ้าน จากสังคมที่คุ้นเคยเป็นครั้งแรก อาการ Culture Shock หรือความสับสนไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมใหม่ก็เป็นเรื่องธรรมดาและเกิดขึ้นกับทุกคน สิ่งหนึ่งที่หลาย ๆ คนพูดเสมอคือ “มันไม่มีถูกมีิผิด มีแต่ความแตกต่าง” เราพบว่าการเปิดใจให้กว้าง ก่อนจะตัดสินอะไรให้ลองทำความเข้าใจก่อน ช่วยให้ปรับตัวได้เร็วขึ้นมาก เพราะสุดท้ายแล้วเราก็ต้องการให้คนอื่นทำความเข้าใจเราที่แตกต่างเช่นเดียวกัน
4.ใจเย็น ๆ
การไปเรียนต่อมีเรื่องที่ต้องทำเต็มไปหมด การปรับตัวทั้งการเรียน การพบปะผู้คนใหม่ ๆ ภาษา วัฒนธรรม ธรรมเนียม บางครั้งอาจทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ดีพอไปสักอย่าง ทำให้รู้สึกอึดอัด บางครั้งถึงกับอยากกลับบ้าน หลาย ๆ ครั้งเราจึงต้องเตือนตัวเองเสมอว่า เราต้องใจเย็น ๆ ใจดีกับตัวเองบ้าง เข้าใจว่ามีเรื่องให้ทำร้อยแปดพันเก้า ก็ค่อย ๆ ทำแต่ละวันให้ดีที่สุด แล้วทำไปทีละสเตป พยายามไม่เปรียบเทียบการพัฒนาของตัวเองกับคนอื่น บนพื้นฐานที่เข้าใจว่าทุกคนเรียนรู้ต่างกันและมีจังหวะในการพัฒนาที่ต่างกัน พอคิดได้อย่างนี้เราก็จะอึดอัดน้อยลง พอใจเย็นลงก็ทำให้คิดได้ละเอียดขึ้น เป็นผลดีกับตัวเอง
สรุปสั้น ๆ ว่า การไปเรียนเมืองนอกเป็นโอกาสสำคัญในชีวิต ที่เราทุ่มทั้งแรงใจ กาย เงินและเวลา เมื่อไปถึงแล้วก็อยากให้ใช้เวลานั้นให้คุ้มค่าที่สุด เปิดใจให้กว้างเพื่อได้เปิดหูเปิดตา พยายามลองสิ่งใหม่ ๆ แต่สุดท้ายแล้วก็อย่าลืมใจดีกับตัวเองแล้วมองหาทรัพยากรที่อาจช่วยเราได้และบอกตัวเองเสมอว่าทุกคนพัฒนาด้วยความเร็วที่ต่างกัน แต่เราทำทุกวันให้ดีที่สุดเท่านั้นพอ